การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

Last updated: 7 ก.ย. 2565  |  362 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม  Total Knee Replacement เป็นการผ่าตัดโดยการตัดผิวข้อเข่าที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพของกระดูกส่วนปลายต้นขา (Femur) และส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) ทั้งด้านในและนอกออกทั้งหมด จากนั้นจึงทำการแทนที่ด้วยผิวโลหะโดยใช้แผ่นโพลีเอทิลีนกั้น  ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมาก มักทำการผ่าตัดแบบนี้ในผู้ป่วยที่มีการทำลายของกระดูกอ่อนและเอ็นภายในข้อเข่าอย่างมากแล้ว

หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรมีการฝึกออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อน่อง และฝึกการเหยียดงอข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการรักษา และการออกกำลังกาย

1.       แผลผ่าตัดมีเลือดออกหรือซึม

2.       น่องบวมและปวดมาก

3.       ปวดเข่ามาก มีอาการเข่าบวมแดงมาก และหรือมีไข้

การปฏิบัติตัวเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียม

1.       การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและน่องเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

2.       หลีกเลี่ยงการยกของหนักและหลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มากเกินไป

3.       รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป

4.       หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็วและระวังการลื่นหกล้ม

5.       หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้เตี้ย นั่งกับพื้น

ท่าออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขา กล้ามเนื้อน่อง และฝึกการเหยียดงอข้อเข่า
  การออกกำลังกายบริหารควรทำท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อเซต 2 เซตต่อวัน ซึ่งหลังการออกกำลังกายบริหารอาจประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริหาร

ท่าที่หนึ่ง
1. นอนหงาย ใช้ผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้เข่า
2. ยกส้นเท้าขึ้นจากพื้นจนกระทั่งเข่าตรง กดเข่าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู


ท่าที่สอง
1. นอนหงาย ใช้ผ้าขนหนูม้วนวางรองใต้ข้อเท้า
2. ขาเหยียดตรง กดส้นเท้าลงไปกับม้วนผ้าขนหนู จนรู้สึกตึงกล้ามเนื้อขาด้านหลัง


ท่าที่สาม
1. นอนหงาย ขาเหยียดตรง
2. ลากส้นเท้ามายังสะโพก โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง เกร็งค้างไว้ประมาณ 5 วินาที

ท่าที่สี่
1. นั่งห้อยขา ให้เท้าวางบนพื้น
2. ยกขาขึ้นให้เข่าเหยียดตรงแล้วเกร็งค้างไว้ 5 - 10 วินาที

ท่าที่ห้า
1. นั่งห้อยขาให้เท้าเหยียบบนผ้าที่วางบนพื้นเรียบ
2. ลากเท้าเข้าหาตัว โดยให้เข่างอจนรู้สึกตึง แล้วค่อยๆเหยียดขาออกตามเดิม

ท่าที่หก
1. ยืนจับโต๊ะ
2. ยกปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จนรู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าขา

ท่าที่เจ็ด
1. ยืนจับโต๊ะ
2. เขย่งปลายเท้าขึ้นทั้ง 2 ข้างจนสุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้